อักษรวิ่ง

เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา

วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

พระราชประวัติ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์

ด้วยเหตุที่ทรงบำเพ็ญพระราชกิจจานุกิจนานัปการอันเป็นประโยชน์แก่แผ่นดินและราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สถาปนาพระราชอิสริยยศ และพระราชอิสริยศักดิ์ เป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ และจากพระวิริยะอุตสาหะในการทรงศึกษาหาความรู้และบำเพ็ญพระราชกิจนานัปการ พระเกียรติคุณ เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้ง ทั้งในราชอาณาจักร และนานาชาติ จึงทรงรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แห่งราชอาณาจักรไทย และทรงรับการทูลเกล้า ฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ


พระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
การศึกษา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มต้นการศึกษาระดับอนุบาล เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ ณ โรงเรียนจิตรลดา ในเขตพระราชฐาน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยทรงศึกษา ต่อเนื่องไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา ตลอดระยะเวลาที่ทรงศึกษา ทรงเอาพระทัยใส่ในการเรียน โปรดการอ่าน และการศึกษาวรรณคดี ทั้งของไทยและต่างประเทศ ทรงเริ่มแต่งคำประพันธ์ต่าง ๆ ทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง ตั้งแต่ยังทรงศึกษา ในชั้นประถมศึกษา โปรดการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน ทั้งด้านกีฬา ดนตรี บันเทิง และกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์
ณ โรงเรียนจิตรลดา
ณ โรงเรียนจิตรลดา
สมเด็จพระเทพฯทรงเอาพระทัยใส่ในเรื่องการเรียนเป็นอย่างมาก ในทุกๆด้าน


หลังจากทรงสำเร็จการศึกษา ประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ จากโรงเรียนจิตรลดา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๖ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบเข้าศึกษาต่อ ในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะมีพระราชภารกิจ โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ไปเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ แต่ก็ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ในการเรียนอย่างยิ่ง และยังทรงร่วม กิจกรรมของคณะ และของมหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับนิสิตทั่วไป ในปีการศึกษา ๒๕๑๙ ทรงสำเร็จการศึกษา และทรงเข้ารับพระราชทานปริญญา อักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง สาขาวิชาประวัติศาสตร์
ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทรงรับพระราชทานปริญญา อักษรศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

ในพุทธศักราช ๒๕๒๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสมัครเข้าศึกษาต่อ ระดับมหาบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกันทั้งสองแห่ง ทรงสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปีการศึกษา ๒๕๒๒ หลังจากนั้น ทรงสำเร็จการศึกษา อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาบาลี - สันสกฤต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีการศึกษา ๒๕๒๔ ต่อมา ด้วยความสนพระทัยงานด้านการพัฒนา โดยอาศัยหลักวิชาการศึกษา หรือการเรียนรู้เป็นแกน จึงทรงสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทรงสำเร็จการศึกษา และรับพระราชทานปริญญา การศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ในปีการศึกษา ๒๕๒๙
หลักคิดในการใช้การศึกษาเป็นปัจจัยหลักในการสร้าง และพัฒนาความรู้ ความคิดของประชาชน และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน และสังคม ที่ทรงได้รับจากการศึกษา ในระดับดุษฎีบัณฑิต ผนวกกับประสบการณ์ ที่ทรงเรียนรู้ จากการโดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นพื้นฐานความรู้ที่แข็งแกร่ง ในการทรงงานพัฒนา ของพระองค์เอง ในเวลาต่อมา จวบจนปัจจุบัน
ขอขอบคุณ:http://www.sirindhorn.net/HRH-biography.php


วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558

พระอัจฉริยภาพด้านต่างๆ



ด้านภาษา

  พระองค์ทรงมีความรู้และความสนใจทางด้านภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ทรงสามารถรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาจีน และทรงกำลังศึกษา ภาษาเยอรมัน และภาษาลาตินอีกด้วย พระองค์โปรดวิชาภาษาไทยตั้งแต่วัยเยาว์นั้นมา นอกจากนี้ ยังทรงสนพระทัยในภาษาอังกฤษและภาษาบาลีด้วย
เมื่อพระองค์ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนจิตรลดานั้น ทรงได้รับการถ่ายทอดความรู้ทางด้านภาษาทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาเขมร ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส โดยภาษาไทยนั้น พระองค์ทรงเชี่ยวชาญทั้งด้านหลักภาษา วรรณคดี และศิลปะไทย เมื่อทรงจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จึงพยายามหัดเรียนภาษาบาลี อ่านเขียนอักษรขอม ซึ่งภาษาบาลีนั้น เป็นภาษาที่พระองค์สนพระทัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แต่ได้เริ่มเรียนอย่างจริงจังในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนสามารถจำการแจกวิภัตติเบื้องต้นที่สำคัญได้ และเข้าพระทัยโครงสร้างและลักษณะทั่วไปของภาษาบาลีได้ นอกจากนี้ ยังทรงเลือกเรียนภาษาฝรั่งเศสแทนการเรียนเปียโน เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะอ่านหนังสือภาษาฝรั่งเศสที่มีอยู่ในตู้หนังสือมากกว่าการซ้อมเปียโน
เมื่อทรงเข้าศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น พระองค์ทรงเลือกเรียนวิชาภาษาไทย ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤตเป็นวิชาโท ทำให้ทรงศึกษาวิชาภาษาไทยในระดับชั้นสูงและละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นทั้งด้านภาษาและวรรณคดี ส่วนภาษาบาลีและสันสกฤตนั้น ทรงศึกษาทั้งวิธีการแบบดั้งเดิมของไทย คือ แบบที่เรียนกันในพระอารามต่าง ๆ และแบบภาษาศาสตร์ซึ่งเป็นวิธีการตะวันตก ตั้งแต่ไวยากรณ์ขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง และเรียนตามวิธีการอินเดียโบราณเป็นพิเศษในระดับปริญญาโท  พระปรีชาสามารถทางด้านภาษาของพระองค์นั้นเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับการทูลเกล้าถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางด้านภาษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ



สมเด็จพระเทพทรงมีความสามารถด้านภาษาสูงโดยเฉพาะภาษาจีน
                                                                               
ท่านมีความเชี่ยวชาญในหลายภาษา เช่น จีน ฝรั่งเศส เยอรมณี ฯลฯ


ด้านดนตรี

พระองค์ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยผู้หนึ่ง โดยทรงเครื่องดนตรีไทยได้ทุกชนิด แต่ที่โปรดทรงอยู่ประจำ คือ ระนาด ซอ และฆ้องวง โดยเฉพาะระนาดเอก พระองค์ทรงเริ่มหัดดนตรีไทยในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ โรงเรียนจิตรลดา โดยทรงเลือกหัดซอด้วงเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก และได้ทรงดนตรีไทยในงานปิดภาคเรียนของโรงเรียน รวมทั้ง งานวันคืนสู่เหย้าร่วมกับวงดนตรีจิตรลดาของโรงเรียนจิตรลดาด้วย หลังจากที่ทรงเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์ทรงเข้าร่วมชมรมดนตรีไทยของสโมรสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะอักษรศาสตร์ โดยทรงเล่นซอด้วงเป็นหลัก และทรงเริ่มหัดเล่นเครื่องดนตรีไทยชิ้นอื่น ๆ ด้วย
ในขณะที่ทรงพระเยาว์ เครื่องดนตรีที่ทรงสนพระทัยนั้น ได้แก่ ระนาดเอกและซอสามสาย ซึ่งพระองค์ทรงเริ่มเรียนระนาดเอกอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2528  นอกจากดนตรีไทยแล้ว พระองค์ยังทรงดนตรีสากลด้วย โดยทรงเริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่พระชนมายุ 10 พรรษา แต่ได้ทรงเลิกเรียนหลังจากนั้น ปี และทรงฝึกเครื่องดนตรีสากล ประเภทเครื่องเป่า จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนสามารถทรงทรัมเปตนำวงดุริยางค์ในงานคอนเสิร์ตสายใจไทย และทรงระนาดฝรั่งนำวงดุริยางค์ในงานกาชาดคอนเสิร์ต
ท่านทรงมีความผูกพันธ์กับดนตรีไทยแต่วัยเยาว์

ด้านพระราชนิพนธ์

พระองค์โปรดการอ่านหนังสือและการเขียนมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ รวมกับพระปรีชาสามารถทางด้านภาษาทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ร้อยแก้วและร้อยกรอง ดังนั้น จึงทรงพระราชนิพนธ์หนังสือประเภทต่าง ๆ ออกมามากกว่า 100 เล่ม ซึ่งมีหลายหลากประเภททั้งสารคดีท่องเที่ยวเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เช่น เกล็ดหิมะในสายหมอก ประเภทวิชาการและประวัติศาสตร์ เช่น บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ กษัตริยานุสรณ์ หนังสือสำหรับเยาวชน เช่น แก้วจอมแก่น แก้วจอมซน หนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ไทย เช่น สมเด็จแม่กับการศึกษา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับพระราชกรณียกิจพระราชจริยาวัตรด้านการศึกษา ประเภทพระราชนิพนธ์แปล เช่น หยกใสร่ายคำ ความคิดคำนึง เก็จแก้วประกายกวี และหนังสือทั่วไป เช่น นิทานเรื่องเกาะ (เรื่องนี้ไม่มีคติ) เรื่องของคนแขนหัก เป็นต้น และมีลักษณะการเขียนที่คล้ายคลึงกับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ ในพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ นอกจากจะแสดงพระอารมณ์ขันแล้ว ยังทรงแสดงการวิพากษ์ วิจารณ์ในแง่ต่าง ๆ เป็นการแสดงพระมติส่วนพระองค์
"หยกใส ร่ายคำ" หนึ่งในพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ที่มา:th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ_สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีทรงดนตรีไทย ณ ห้องประชุมใหญ่ยูเนสโก ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 20 พฤษภาคม 2525

วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558

พระนิพนธ์ต่างๆ


ความเป็นปราชญ์ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกิดจากทรงใฝ่แสวงหาความรู้ตลอดเวลา ทรงสนพระทัยศึกษาหาความรู้หลากหลายด้าน โดยมีพื้นฐานมาจากพระนิสัยส่วนพระองค์ที่โปรดการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ ทรงรอบรู้ในศิลปวิทยาการมากมาย โดยเฉพาะในด้านวรรณคดี ทรงรอบรู้ทั้งวรรณคดีของชาติไทย และวรรณคดีของชาติอื่นๆ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี ทรงได้รับการปลูกฝังจากสมเด็จพระ นางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้ทรงอ่านวรรณคดีไทยเรื่องสำคัญๆ มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ไม่ว่าจะเป็น พระอภัยมณี, รามเกียรติ์ และอิเหนา ครั้นเมื่อเจริญพระชนมายุขึ้น จากความสนพระราชหฤทัยในวัยเยาว์ ได้ขยายวงกว้างไปสู่วรรณคดีไทยทุกประเภทและทุกยุคทุกสมัย ทรงอ่านและทรงศึกษาวรรณคดีไทยอย่างแตกฉานลึกซึ้งในเชิงวิจักษณ์ และวิจารณ์ ในฐานะที่วรรณคดีเป็นทั้งศาสตร์ คือความรู้ และศิลป์ คือความงาม



นอกจากจะทรงศึกษาวรรณคดีไทยอย่างลุ่มลึกแล้ว สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงเป็นนักประพันธ์และกวีที่มีบทพระราชนิพนธ์มากมายกว่า 135 เรื่อง ทั้งสารคดีและบันเทิงคดี ร้อยแก้วและร้อยกรอง โดยจากบทพระราชนิพนธ์สั้นๆขณะที่ยังทรงพระเยาว์ ได้พัฒนามาเป็นบทพระราชนิพนธ์เรื่องยาวที่หลากหลายทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบ ซึ่งล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่าเป็นที่ประจักษ์ในแวดวงวรรณกรรม

บทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช กุมารี มีทั้งรูปแบบของเรียงความ บทความ งานวิจัย และสารคดีเรื่องยาว โดยสารคดีโดดเด่นเป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุดคือ สารคดีท่องเที่ยว เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสไปในโลกกว้าง ได้ทรงนำพระประสบการณ์ต่างๆมาถ่ายทอดไว้ในบทพระราชนิพนธ์ ซึ่งเปี่ยมด้วยสาระ ความรู้ แง่คิด และมุมมองลึกซึ้ง ด้วยศิลปะการประพันธ์ ที่งดงาม กระชับชัดเจน สละสลวยมีชีวิตชีวา และเต็มไปด้วยพระอารมณ์ขัน ขณะเดียวกัน ก็ทรงเป็นกวีที่เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีนิพนธ์ต่างๆไว้มากมายนับไม่ถ้วน โดยบทกวีนิพนธ์ส่วนใหญ่สะท้อนความเป็นนักอนุรักษ์และนักพัฒนาอย่างชัดเจน



สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงพระราชนิพนธ์บันเทิงคดีไว้เป็นจำนวนมาก มีทั้งเรื่องที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเอง และเรื่องที่ทรงแปลมาจากต่างประเทศ โดยบทพระราชนิพนธ์ที่นิยมอ่านกันอย่างแพร่หลายคือ วรรณกรรม

สำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งทรงใช้พระนามแฝงว่า “แว่นแก้ว” เน้นนำเสนอความสนุกสนานเพลิดเพลิน แฝงสาระแง่คิด ทรงใช้ภาษาเรียบง่ายแต่จับใจ ชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเฉพาะวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “แก้วจอมแก่น” ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นจากประสบการณ์จริงเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ นอกเหนือจากพระปรีชาสามารถในฐานะผู้ศึกษาค้นคว้าและสร้างสรรค์วรรณคดีแล้ว ยังทรงมีบทบาทในการอนุรักษ์และเผยแพร่วรรณคดีไทยไปสู่ประชาชนทุกเพศทุกวัยด้วย



เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรักใคร่และผูกพัน กับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นอย่างมาก โดยเสด็จฯเยือนแดนมังกรมาแล้วกว่า 30 ครั้ง และยังทรงศึกษาภาษาจีนอย่างลึกซึ้งถึงราก ด้วยความสนพระทัยในศิลปวัฒนธรรมจีน จึงทรงหยิบนวนิยายเรื่องดังของจีนมาแปลเป็นภาษาไทยแล้วหลายเรื่อง โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ในบทพระราชนิพนธ์แปลจากนวนิยายจีนเกือบทุกเรื่อง มักจะมีตัวละครเอกเป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็น “หมู่บ้านเล็ก



ตระกูลเป้า” บทพระราชนิพนธ์แปลจากนวนิยายจีนของ “หวังอันอี้” สะท้อนถึงความรักอันบริสุทธิ์ยิ่งใหญ่ของผู้เป็นแม่ และความบริสุทธิ์กล้าหาญของเด็กน้อยผู้กลายเป็นวีรชนของหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบคอมมูน, “ผีเสื้อ” สะท้อนให้เห็นถึงสภาพของสังคมจีนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ที่เต็มไปด้วยความสับสนและขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมือง, “หยกใสร่ายคำ” บทพระราชนิพนธ์แปลจากกวีนิพนธ์จีนโบราณ ถ่ายทอดความรู้สึก อารมณ์ อุดมการณ์ และปัญหาของยุคสมัย และ “เมฆเหิน น้ำไหล” สะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมจีน อันเป็นผลมาจากนโยบายสี่ทันสมัย



ล่าสุด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี ยังได้แสดงถึงพระปรีชาสามารถด้านอักษรศาสตร์ให้เป็นที่ประจักษ์อีกครั้ง โดยทรงหยิบนวนิยายเรื่องดังของสาธารณรัฐประชาชนจีน “นารีนครา” ประพันธ์โดย “ฉือลี่” นักเขียนวรรณกรรมร่วมสมัยชื่อดังแห่งยุค มาแปลเป็นฉบับภาษาไทยครั้งแรก เพื่อสะท้อนภาพสังคมและความงดงามของความเป็นหญิง ในบทบาทหน้าที่ยิ่งใหญ่ของความเป็นแม่, ภรรยา และความเป็นเพื่อนแท้ ถ่ายทอดวีรกรรมอันเกิดจากดวงใจแกร่งดั่งเหล็กกล้าของสตรีชาวจีน ผ่านตัวละครสำคัญ 3 ตัว ซึ่งเป็นตัวแทนของหญิงรุ่นเก่า, รุ่นกลางและรุ่นใหม่ นอกจากนี้ ยังเพิ่มสีสันด้วยภาพของเมนูอาหารฝีมือเชฟชื่อดังจากเมืองอู่ฮั่น ซึ่งบินตรงมาเมืองไทยตามคำเชิญของเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศ ไทย เพื่อปรุงอาหารถวายสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทอดพระเนตรโดยเฉพาะ สำหรับ “ฉือลี่” ถือเป็นนักเขียนหญิงชื่อดังยุคใหม่ของจีน ซึ่งถนัดถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงตามกระแสการปฏิรูปพัฒนาประเทศจีนให้ทันสมัยขึ้น



ความโดดเด่นและคุณค่าแห่งบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี มิได้อยู่เพียงที่ความรู้ ความคิด และความบันเทิงที่ผู้อ่านจะได้รับ แต่ยังอยู่ที่พระเจตนารมณ์อันลึกซึ้งที่ทรงมุ่งสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันของปวงชน ทั้งระหว่างชนในชาติเดียวกัน และระหว่างชนต่างชาติ ต่างศาสนา และต่างเผ่าพันธุ์ ถือเป็นการขยายพรมแดนแห่งความรู้และความคิดอันเป็นประโยชน์อย่างอเนกอนันต์.

ที่มา:http://www.thairath.co.th/content/334309

วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

พระราชกรณียกิจ

พระราชกรณียกิจ
          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีพระราชกิจมากมาย ทั้งพระราชกิจที่ทรงสืบสานฯต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, พระราชกรณียกิจเยือนต่างประเทศ, พระราชกรณียกิจประจำวัน และพระราชกรณียกิจทางด้านการศึกษา, ด้านพัฒนา, ด้านศิลปวัฒนธรรมและศาสนา, ด้านสาธารณกุศล, ด้านสาธารณสุขและโภชนาการ, ด้านการต่างประเทศ, ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และด้านเกษตรกรรม
         
            พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ คือ การพัฒนาด้านการศึกษา เนื่องด้วยพระองค์ทรงเป็นนักการศึกษาและโปรดที่จะศึกษาหาความรู้ต่างๆอย่างจริงจัง ดังนั้น พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาจึงกำเนิดขึ้นโดยจัดทำเป็นโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดังนี้
         
             โครงการในประเทศไทย: การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร, การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ, การพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การพัฒนาการศึกษาในชุมชนเมือง, การศึกษาพิเศษเพื่อผู้พิการ, การพัฒนาศูนย์ข้อมูลและห้องสมุด, มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
        
             โครงการรระหว่างประเทศ: วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา, ความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, ความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสหภาพพม่าในการพัฒนาเด็กและเยาวชน, ความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในการพัฒนาเด็กและเยาวชน, ความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน, ความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและมองโกเลีย, การพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเด็กและเยาวชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก, ทุนการศึกษาพระราชทานสำหรับนักเรียนไทยศึกษาต่อในต่างประเทศ, ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
         
              โครงการตามพระราชดำริของพระองค์ล้วนแต่ทำให้เกิดการพัฒนา ความร่วมมือระหว่างประเทศ และเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ร่วมตอบสนองโครงการตามพระราชดำริของพระองค์ด้วยการจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนกัมพูชาให้เข้ามาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงได้จัดตั้งกองทุนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นเพื่อจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือเยาวชนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ตำรวจตะเวนชายแดน และนักเรียนในโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ด้านการศึกษา
                                                                                                   ที่มา:http://www.plan.msu.ac.th/iroffice/web/?page=%BE%C3%D0%C3%D2%AA%A1%C3%B3%D5%C2%A1%D4%A8